วันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย และยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศด้วย ได้แก่ พม่า , ลาว , กัมพูชา และเมืองเดียนเบียนฟูทางตอนเหนือของเวียดนาม รวมถึง สิบสองปันนา ในมณฑลยูนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย
ประเพณีสงกรานต์ของประเทศที่กล่าวมานี้มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในวันสงกรานต์จะมีการทำบุญตักบาตร ไหว้พระขอพร รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพ และมีการละเล่นสาดน้ำกันในวันสงกรานต์ ช่วงเวลาของเทศกาลาสงกรานต์ของแต่ละประเทศก็จะใกล้เคียงกัน นั่นคือ อยู่ในช่วงเวลาประมาณวันที่ ๑๒ – ๑๖ เมษายน ของทุกปี ซึ่งจะมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่บ้าง เนื่องจากการคำนวณที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ขอขอบคุณ ภาพจาก Internet
ในอดีตไทยเราเคยใช้ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย หรือเดือน ๑ เป็นการเริ่มต้นการนับวันขึ้นปีใหม่ หากนับตามจันทรคติจะตกอยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคม คล้าย ๆ กับ ตรุษจีน ของชาวจีน ซึ่งจะอยู่ประมาณ เดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ ตามการนับวันตามจันทรคติของจีน ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวนั้น จะอยู่ในช่วงฤดูหนาวทั้งสิ้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า การนับเดือน ๑ เริ่มจากฤดูหนาว ท้องฟ้าสว่างสดใส เปรียบเสมือนว่าเป็นเวลาเช้า จึงให้เป็นต้นปี ฤดูร้อน แดดแรง เหมือนเวลากลางวัน จึงให้เป็นกลางปี และฤดูฝนนั้น มีฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้ม เหมือนเวลากลางคืน จึงให้เป็นช่วงปลายปี
หลังจากที่ไทยเราได้รับเอา จุลศักราช มาใช้ในการนับปีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ยุคสุโขทัย จึงได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาใช้ตามแบบของจุลศักราชด้วย ทำให้เรามีวันขึ้นปีใหม่อยู่ ๒ ครั้ง นั่นคือ
วันขึ้นปีใหม่ ครั้งที่ ๑ เป็นการนับวันแบบจันทรคติ
วันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือน มีนาคม ถือเป็นการเปลี่ยนปีนักษัตร แต่ว่ายังคงใช้ศกเดิมไปจนถึงก่อนวันเถลิงศก
วันขึ้นปีใหม่ ครั้งที่ ๒ เป็นการนับวันแบบสุริยะคติ จะแบ่งเป็น ๓ วันคือ
วันที่ ๑ วันมหาสงกรานต์ (ประมาณวันที่ ๑๓ เมษายน) คือ วันที่พระอาทิตย์ยกออกจากราศีมีน และเคลื่อนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ
วันที่ ๒ วันเนา (ประมาณวันที่ ๑๔ เมษายน) คือวันที่อยู่ระหว่างศกเดิม และศกใหม่ (เนา เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร หมายถึง อยู่)
วันที่ ๓ วันเถลิงศก (ประมาณวันที่ ๑๕ เมษายน) คือ วันเปลี่ยนศักราช
ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนมานับวันขึ้นปีใหม่ในเดือน ๕ แต่การเรียกเดือนก็ไม่ได้เรียกเดือน ๕ เป็นเดือน ๑ แต่อย่างใด ยังคงใช้ตามเดิม ด้วยว่าเคยชินกับการเรียกแบบเดิมอยู่แล้วนั่นเอง
การคำนวณวันสงกรานต์ในอดีตนั้น ใช้การคำนวณโดยการนับวันทางจันทรคติ จึงทำให้ในแต่ละปีวันสงกรานต์จะไม่ตรงกัน และมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก แต่ภายหลังเมื่อนำปฏิทินสุริยะคติ ซึ่งเป็นการนับการโคจรของดวงอาทิตย์มาช่วยในการคำนวณ จึงทำให้การคำนวณมีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน วันสงกรานต์ จะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ ๑๒ – ๑๖ เมษายน ของทุกปี แต่ทางราชการจะกำหนดวันหยุดสงกรานต์เป็นวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ของทุกปี เพื่อความสะดวกนั่นเอง
หลายท่านคงเคยทราบมาก่อนแล้วว่า ในอดีตนั้น ประเทศไทยเราได้ใช้วันที่ ๑ เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ทราบหรือไม่ครับว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้มีพระราชโองการประกาศให้ใช้ วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจาก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ นั้น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑ เมษายน พอดี นี่จึงเป็นเหตุผลให้ไทยเราใช้วันที่ ๑ เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่เรื่อยมา จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะ ได้มีมติเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน เป็น วันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากล โดยเริ่มใช้วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรก ส่งผลให้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีเพียงแค่ ๙ เดือนเท่านั้น นั่นคือ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
สำหรับวิธีการบอกศักราชนั้น ได้คิดวิธีให้จำได้ง่าย และเพื่อที่จะได้เขียนให้สั้นลง ด้วยการใช้เลขตัวสุดท้ายของศักราช ร่วมกับปีนักษัตร ซึ่งวิธีนี้จะสามารถนับวนไปได้ถึง ๖๐ ปี จึงจะวนกลับมาซ้ำเดิมอีกครั้ง เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ตรงกับ ปี จ.ศ. ๑๓๘๓ ซึ่งลงท้ายด้วย ๓ และปีนักษัตรปีนี้คือ ฉลู ซึ่งจะเรียกปี ฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๓๘๓ แบบสั้น ๆ ว่า ฉลู ตรีศก สำหรับเลขท้ายศักราชจะมี ๑๐ ตัว คือ ๐ – ๙ จะอ่านดังนี้
๑ อ่านว่า เอกศก
๒ อ่านว่า โทศก
๓ อ่านว่า ตรีศก
๔ อ่านว่า จัตวาศก
๕ อ่านว่า เบญจศก
๖ อ่านว่า ฉศก
๗ อ่านว่า สัปตศก
๘ อ่านว่า อัฐศก
๙ อ่านว่า นพศก
๐ อ่านว่า สัมฤทธิศก
เกี่ยวกับเรื่องวันสงกรานต์นี้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ นางสงกรานต์ บันทึกไว้ว่า มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่ง มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่มีบุตร วันหนึ่งชายขี้เมาผู้ที่มีบุตรสองคนและอาศัยอยู่บ้านใกล้ ๆ กันกับเศรษฐี ได้ไปพูดจาหยาบช้ากับเศรษฐี เศรษฐีจึงถามชายขี้เมาผู้นั้นไปว่า เหตุใดจึงมาพูดจาหยาบคายใส่เราเช่นนี้ ชายขี้เมาผู้นั้นจึงตอบไปว่า ท่านเศรษฐีถึงแม้จะมีสมบัติมากมาย แต่หาได้มีบุตรไม่ เมื่อตายไป สมบัติเหล่านั้นก็สูญเปล่า แต่ตัวเรานั้นมีบุตร เห็นว่าประเสริฐกว่าท่านนัก เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็เกิดความละอาย จึงได้ไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์เพื่อขอบุตร แต่ผ่านไปสามปีก็หาได้มีบุตรไม่ จนกระทั่งถึงวันสงกรานต์ พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารของตนไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ บนต้นไทรนั้น มีฝูงนกต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีพระไทรสถิตอยู่ จากนั้นจึงนำข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้งเพื่อหุงบูชาพระไทร แล้วตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรเห็นดังนั้นจึงเกิดความเมตตา เหาะไปเฝ้าพระอินทร์เพื่อขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงให้ ธรรมบาลเทวบุตร ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดออกมา เศรษฐีจึงให้ชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วสร้างปราสาทเจ็ดชั้นให้ธรรมบาลกุมารอาศัยอยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อกุมารน้อยเติบโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ภาษานก และได้เรียนไตรเพทจนจบเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกการมงคลต่าง ๆ ให้กับผู้คนทั้งหลาย
เมื่อความทราบถึงท้าวกบิลพรหม ท่านท้าวกบิลพรหมจึงได้มาถามปัญหา ๓ ข้อแก่ธรรมบาลกุมาร โดยสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลกุมารสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ท่านจะตัดศีรษะบูชา แต่หากว่าธรรมบาลกุมารไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ท่านก็จะตัดศีรษะของธรรมบาลกุมารเสีย
ท้าวกบิลพรหมถามคำถามแก่ธรรมบาลกุมารว่า เวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาอัสดง ศรีของมนุษย์อยู่ที่ใด
ธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้ จึงขอผัดผ่อนไปอีก ๗ วัน เมื่อเวลาผ่านไป ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ จึงคิดว่าวันพรุ่งนี้เห็นทีต้องตายเป็นแน่ หากเป็นเช่นนั้น เห็นทีจะหนีไปเสียก่อนดีกว่า ธรรมบาลกุมารจึงหนีออกจากปราสาทของตนแอบไปนอนอยู่ใต้ต้นตาล ซึ่งมีนกอินทรีย์สองตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ธรรมกุมารจึงบังเอิญได้ยินนกอินทรีย์สองตัวผัวเมียคุยกัน นางอินทรีย์ถามสามีของตนว่า วันพรุ่งนี้สามีจะไปหาอาหารที่ไหน สามีจึงตอบว่า พรุ่งนี้จะได้ร่างของธรรมบาลกุมารมาเป็นอาหาร เพราะธรรมบาลจะต้องถูกท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะถึงแก่ความตาย เพราะไม่สามารถตอบคำถามท้าวกบิลพรหมได้ นางอินทรีย์จึงถามสามีของตนว่า แล้วสามีท่านรู้หรือไม่ว่าคำตอบคืออะไร สามีจึงตอบแก่นางอินทรีย์ว่า เวลาเช้านั้น ศรีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงใช้น้ำล้างหน้าในตอนเช้า เวลาเที่ยงนั้น ศรีอยู่ที่อก มนุษย์จึงใช้เครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนเวลาอัสดงนั้น ศรีจะอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงใช้น้ำล้างเท้าในเวลาเย็นย่ำค่ำ
เมื่อธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นจึงกลับไปยังปราสาทของตน ต่อรุ่งเช้าเมื่อท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา จึงได้ตอบปัญหาแก่ท้าวกบิลพรหมไปตามที่ตนได้ยินมา
ท้าวกบิลพรหมเมื่อได้ฟังคำตอบแล้ว ก็ได้ทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับธรรมบาลกุมาร จึงได้เรียกธิดาทั้ง ๗ ซึ่งเป็นธิดาของพระองค์มาพร้อมกัน แล้วบอกแก่ธิดาทั้ง ๗ ว่า จะตัดเศียรเพื่อเป็นการบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพระองค์นั้น หากตกลงสู่แผ่นดิน ก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลก แต่หากอยู่บนอากาศ ก็จะทำให้ฝนแล้ง แต่ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทร ก็จะทำให้น้ำในมหาสมุทรแห้งไป จึงขอให้นางทุงษผู้เป็นบุตรคนโตของพระองค์ให้เอาพานมารับเศียรของพระองค์ไว้ เมื่อนางทุงษนำพานมารับเศียรของท้าวกบิลพรหมแล้ว จึงแห่ประทักษิณรอบเขาพระเมรุ จากนั้นจึงเชิญไปประดิษฐานไว้ในมณฑปในถ้ำคันธธุลีบนเขาไกรลาส เมื่อครบ ๓๖๕ วัน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์บนโลกมนุษย์ เทพธิดาทั้งเจ็ดองค์ซึ่งเป็นบุตรของท้าวกบิลพรหมนั้น ก็จะผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมออกมาแห่ประทักษิณรอบเขาพระเมรุทุกปี นี่ก็คือ ตำนานเรื่องราวเกี่ยวกับ นางสงกรานต์ ที่ได้บันทึกไว้บนแผ่นศิลาจารึก ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร แต่… ยังครับ ยังไม่จบแค่นี้ ต่อไปเราจะไปทำความรู้จักกับ มิสสงกรานต์ ทั้ง ๗ นาง แบบเอ็กซ์คลูซีฟกันครับ เราจะไปดูกันครับว่า นางสงกรานต์ ทั้ง ๗ อันเป็นบุตรของท้าวกบิลพรหมนั้น เป็นใครกันบ้าง

นอกจากนี้ ท่าทางของนางสงกรานต์ ก็ยังแตกต่างออกไปตามช่วงเวลาอีกด้วย นั่นคือ
ช่วงเวลารุ่งเช้าจนถึงเที่ยง คือ 06.00 ถึง 11.59 นางสงกรานต์จะมาในท่ายืน
ช่วงเวลาเที่ยงจนถึงค่ำ คือ 12.00 ถึง 17.59 นางสงกรานต์จะมาในท่านั่ง
ช่วงเวลาค่ำจนถึงเที่ยงคืน คือ 18.00 ถึง 23.59 นางสงกรานต์จะมาในท่านอน และลืมตา
ช่วงเวลาเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า คือ 00.00 ถึง 05.59 นางสงกรานต์จะมาในท่านอน และหลับตา
นางสงกรานต์ที่มาในแต่ละปี พร้อมกับท่าทางอิริยาบถต่าง ๆ นั้น ตามตำราโหร ก็จะมีคำทำนายต่าง ๆ กันไปในแต่ละปี แต่ละท่านั้น ในส่วนของคำทำนายเรื่องนางสงกรานต์นี้ ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านมิได้ทรงลงรายละเอียดไว้มากนัก ด้วยพระองค์ทรงให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้ลงรายละเอียดไว้
สำหรับวันสงกรานต์ในปัจจุบันนั้น จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม
- การละเล่นรดน้ำ
- การสรงน้ำพระ
- อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
- การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ และผู้ที่เคารพ
- การขนทรายเข้าวัด
ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลอมรวมจนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ สมควรที่พวกเราจะสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป
สามารถติดตาม Blog Journey ผ่านทาง social media ได้หลากหลายช่องทาง ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
- WordPress: Blog Journey
- Facebook: Blog Journey Fan Page
- Twitter: @Blog_Journey_th
- Blockdit: Blog Journey Page
- TrueID: @NexUs
ประมวลภาพสงกรานต์
ขอขอบคุณภาพจาก Amazing Thailand
ขอขอบคุณภาพจาก Events Weekly online
ขอขอบคุณ
- พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
- จุดเปลี่ยนไทยย้ายวันขึ้นปีใหม่ จากยุคโบราณสู่ 1 เม.ย. ปรับไปมาจนเป็น 1 มกราคม , Silapa-Mag.com
- สงกรานต์ , Wikipedia
- ภาพจาก Freepik 1, 2, 3, 4, 5 โดย @freepik และ 6 โดย @pikisuperstar
- ภาพจาก Events Weekly online
- ขอขอบคุณภาพจาก Amazing Thailand
- ภาพประกอบอื่น ๆ ทุกภาพ นอกเหนือจากภาพที่ให้เครดิตแล้ว จัดทำโดยผู้เขียน
บทความโดย
Xiao Er แห่งไซเบอร์สเปซ Blog Journey