วันนี้เราจะมาเล่นใหญ่ แปลงร่างเจ้า MicroSD ตัวน้อย ให้กลายเป็น Hard Disk Drive ใช้งานบน Windows โดยใช้เทคนิคการทำ Virtual Hard Disk หรือ VHDกัน
ปัจจุบัน MicroSD Card ขนาด 32 GB หรือ 64 GB ราคาถูกลงมาก แถมความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอจะนำมาแปลงเป็น Hard Disk Drive ใช้งานบน Windows ได้อย่างสบาย ๆ

สำหรับ Laptop Computer หรือ Notebook นั้น ส่วนใหญ่จะมี Card Reader ติดตั้งมาให้ด้วยเรียบร้อย เราจะใช้ประโยชน์จากเจ้า Card Reader ในการแปลง MicroSD ให้กลายเป็น Physical Drive หรือ Hard Disk Drive อีกหนึ่งตัว ถึงตอนนี้เราก็จัดแจงใส่เจ้า MicroSD ตัวน้อยของเรา เข้าไปอยู่ในช่อง Card Reader ให้เรียบร้อยซะก่อน

ตรวจสอบ File System ของ MicroSD Card ว่าเป็น NTFS แล้วหรือยัง โดยการคลิกขวาที่ MicroSD Card ของเราใน My Computer แล้วเลือก Properties หากตรวจสอบแล้วว่า File System ไม่ใช่ NTFS ให้ปิดหน้า Properties ก่อน จากนั้นคลิกขวาที่ MicroSD Card แล้วเลือก Format…

ที่ช่อง File System ให้เลือกเป็น NTFS จากนั้นคลิก OK

ขั้นตอนต่อไป เป็นขั้นตอนที่เราจะทำให้ MicroSD แปลงร่างเป็น Hard Disk Drive ซึ่งในขั้นตอนนี้เราเรียกว่า การทำ Virtual Hard Disks หรือ VHDs ซี่งเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 10 ซึ่ง Virtual Hard Disks (ต่อไปจะเรียกว่า VHD) ก็คือไฟล์ชนิดหนึ่งที่มีนามสกุล .vhd หรือ .vhdx เราสามารถสร้าง (create), ติดตั้ง (attach) และ ยกเลิกการติดตั้ง (detach) ได้โดยใช้ Disk Management ของ Windows 10 เมื่อเราสร้าง และทำการติดตั้งไฟล์ .vhd หรือ .vhdx โดย Disk Management แล้ว เราจะได้ฮาร์ดดิสค์เสมือนขึ้นมา 1 ลูก ซึ่งสามารถใช้งานได้เหมือนฮาร์ดดิสค์จริง ๆ ซึ่งเท่ากับว่าเรามีฮาร์ดดิสค์ใหม่ เพิ่มขึ้นมาในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอีก 1 ลูกนั่นเอง
เรามาสร้าง VHD กันเถอะ ต่อไปเรามาดูวิธีการสร้าง VHD กันแบบ Step by Step กันครับ
1. คลิกที่ปุ่ม Start Menu (ปุ่ม Windows ที่มุมล่างซ้าย) แล้วพิมพ์คำว่า Disk Management จากนั้นเลือกผลการค้นหาอันบนสุดที่ได้

2. เมื่อเข้าสู่หน้าต่าง Disk Management ให้เลือกเมนู Action > Create VHD

3. ที่หน้าต่างสร้าง VHD ให้ Browse ไปที่ Card Reader ที่เราใส่ MicroSD เตรียมไว้แล้ว จากนั้น ให้ตั้งชื่อไฟล์ VHD เป็นชื่ออะไรก็ได้ ตามที่เราต้องการ ในตัวอย่างนี้ ผมตั้งชื่อเป็น MyVHD.vhdx และไดร์ฟ G ของผมคือ Card Reader

4. กำหนดขนาดของ VHD ในช่อง Virtual hard disk size ใส่ขนาดให้พอเหมาะกับขนาดของ MicroSD ที่เราใช้ ในตัวอย่างนี้ ผมใช้ MicroSD ขนาด 64 GB ผมจึงกำหนดให้ขนาด VHD เป็น 58 GB … อันนี้ไม่มีสูตรตายตัวนะครับ เอาที่สบายใจเลย 5555 จะกำหนดขนาดเท่าไหร่ก็ได้จ้า ที่พอดีกับขนาดของ MicroSD Card ของเราจะรับได้ครับ ตัวอย่างของผมไม่เอาเต็มมากครับ เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้นิดหน่อย

5. เลือกรูปแบบของ VHD ในช่อง Virtual hard disk format ซึ่งจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ VHD และ VHDX แล้วมันต่างกันอย่างไรล่ะ ก็….ตามที่โปรแกรมเขียนอธิบายไว้นั่นแหละครับ ผ่ามมมมม!!! ใจเย็น ๆ คือแบบนี้ครับ VHD นั้น เราจะสามารถกำหนดความจุได้สูงสุดเพียง 2 TB เท่านั้น ส่วน VHDX นั้น จะสามารถกำหนดความจุได้สูงสุดถึง 64 TB นั่นเองครับ

6. กำหนดชนิดของ VHD ในช่อง Virtual hard disk type ซึ่งจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ Fixed Size และ Dynamically Expanding ความแตกต่างก็คือ Fixed size จะจองพื้นที่ไว้เต็มความจุที่เรากำหนด นั่นคือ ถ้าเราใส่ Virtual hard disk size เป็น 58 GB ขนาดไฟล์ของ VHD จะมีขนาด 58 GB เต็ม ๆ ตั้งแต่เริ่มสร้างไฟล์ VHD แต่ถ้าเป็น Dynamically expanding ไฟล์ VHD ที่เราสร้างจะมีขนาดเล็กในตอนเร่ิมต้น และขนาดจะใหญ่ขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ตามจำนวนข้อมูลที่เราใส่เข้าไป และจะมีขนาดใหญ่ที่สุดที่ 58 GB

7. เมื่อเราสร้าง VHD ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ใน Disk Management เราจะเห็นเป็นฮาร์ดดิสค์ตัวใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นฮาร์ดดิสค์ที่ยังไม่มี File system ซึ่งหมายความว่าเป็นไดร์ฟที่ยังใช้งานไม่ได้ เราต้องทำการ Format ไดร์ฟให้เรียบร้อยก่อน โดยการคลิกขวาที่ชื่อของ Disk บริเวณซ้ายมือสุดของแถว แล้วเลือก Initialize Disk

8. ที่หน้าต่าง Initialize Disk เลือก Partition style เป็น MBR (Master Boot Record) จากนั้นกดปุ่ม OK

9. กลับมาที่หน้าต่าง Disk Management ให้คลิกขวาบนพื้นที่ว่าง ๆ ด้านขวามือ ที่เขียนว่า Unallocated แล้วเลือกเมนูชื่อ New Simple Volume…

10. ที่หน้าต่าง New Simple Volume Wizard ในขั้นตอน Specify Volume Size หรือขั้นตอนที่จะให้เรากำหนดขนาด หรือพื้นที่ของไดร์ฟ ให้เราใส่ขนาดสูงสุดที่สามารถกำหนดได้ แล้วคลิก Next

11. ขั้นตอนถัดไป จะเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า Assign Drive Letter หรือการกำหนดตัวอักษรประจำไดร์ฟ เราสามารถเลือกเป็นตัวอักษรตัวไหนก็ได้ที่เราต้องการ หรือจะใช้ค่าที่โปรแกรมให้มาเลยก็ได้ จากนั้นคลิก Next

12. ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า Format Partition ซึ่งหากเราจะใช้งานไดร์ฟที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้เราจำเป็นต้องทำการ Format ให้เรียบร้อยก่อน ขั้นตอนนี้ให้เราคลิกเลือก Format this volume with the following setting ให้เราเลือกตัวเลือกต่าง ๆ ดังนี้
- File System ให้เลือกเป็น NTFS
- Allocation unit size ให้เลือกเป็น Default
- Volume label เปรียบเสมือนเป็นป้ายบอกว่า ไดร์ฟของเราชื่ออะไร หรือไดร์ฟของเราใช้ทำอะไร ซึ่งในที่นี้ผมจะตั้งชื่อว่า vDrive เพื่อสื่อให้รู้ว่าไดร์ฟตัวนี้คือ Virtual Hard Disks ที่เราได้สร้างขึ้นมา อย่างไรก็ตามในส่วนของ Volume label นี้เราสามารถปล่อยว่างไว้ได้หากยังไม่รู้ว่าจะใส่ข้อมูลอะไรลงไป และเราสามารถเพิ่มหรือแก้ไขได้อีกครั้งภายหลัง
- Perform a quick format ให้เราทำเครื่องหมายถูกนี้หน้าข้อความนี้ จะทำให้เราสามารถ format ไดร์ฟได้เร็วขึ้นไม่ต้องรอนาน
- Enable file and folder compression เป็นการบีบอัดข้อมูลที่เราจะจัดเก็บไว้ในไดร์ฟนี้ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์ในไดร์ฟให้มากขึ้น แนะนำว่าไม่ต้องทำเครื่องหมายถูกหน้าข้อความนี้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อดีคือสามารถเพิ่มพื้นที่ในไดร์ฟเราให้มีมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการอ่านข้อมูลที่ช้าลง เนื่องจากจำเป็นต้อง uncompress หากมีการเข้าถึงไฟล์ต่าง ๆ ในไดร์ฟ

เมื่อเลือกตัวเลือกต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วให้คลิก Next หลังจากนั้นรอจนเสร็จกระบวนการ Format แล้วคลิก Finish
หลังจาก Format เรียบร้อยแล้ว ให้เราเข้าไปที่ไอคอน Computer บนหน้า Desktop หรือใช้ keyboard shortcut คือปุ่ม Windows + E เพื่อเข้าใช้งาน Virtual Disk ของเราผ่านทาง File Explorer
มาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงเริ่มร้อนวิชา และอยากลองทำกันแล้ว แต่… ช้าก่อนคร้าบ เพราะมันยังไม่จบแค่นี้ครับ
เนื่องจากว่า Virtual Hard Disk ของเรานั้นจะหายไปเมื่อเรา shutdown คล้าย ๆ จินนี่ที่หายไปหลังจากเราขอพรเสร็จ อิอิ
ป้าดโถ่… อะหยังนิ อ่านมาตั้งนาน สรุปใช้งานจริง ๆ ไม่ได้งั้นรึ … อย่าเพิ่งหัวร้อนครับท่านทั้งหลาย เรามีวิธีทำให้ Virtual Hard Disk แสนรักของเราอยู่กับเราไปนาน ๆ ไม่ว่าจะ Re-start หรือ Shutdown เราก็สามารถเรียก Virtual Hard Disk ของเรากลับมาใช้งานได้เสมอเมื่อบูตเข้าสู่ Windows ว่าแต่จะทำอย่างไรนั้น ไปชมกันได้เลยครับ
Mount หรือ Attach ไฟล์ VHD แบบอัตโนมัติด้วย Task Scheduler
อันที่จริงแล้ว วิธีนี้คือการ Attach ไฟล์ VHD ด้วยการเขียน script นั่นเองครับ เพียงแต่เราจะทำให้ script ที่เราเขียนขึ้นมานั้น ทำงานเองโดยอัตโนมัติ โดยอาศัย Task Scheduler ให้ทำการรันไฟล์ script ของเราในขั้นตอนของ Windows startup
1. เราจะใช้ Notepad ในการเขียน script ครับ โดยคลิกที่ปุ่ม Start (รูป Windows บริเวณมุมล่างซ้าย) แล้วพิมพ์คำว่า “Notepad” จะปรากฏดังภาพ คลิกที่ Notepad

2. พิมพ์ข้อความด้านล่างนี้ลงไป แล้วบันทึกข้อความที่พิมพ์ลงไปโดยกดปุ่ม Ctrl + S เลือกที่เก็บไฟล์ไว้ที่ไดร์ฟ C แล้วคลิกที่ช่อง File name ในช่อง File name พิมพ์ว่า VHD_Script.txt จากนั้นกดปุ่ม Save
หมายเหตุ: ตรง assign letter=F หมายถึง การกำหนดตัวอักษรประจำไดร์ฟ ตรงจุดนี้ผู้อ่านสามารถแก้ไขเป็นตัวอักษรอื่นได้ แต่ต้องไม่ตรงกับตัวอักษรที่มีการใช้งานอยู่ก่อนแล้ว แต่ในตัวอย่างนี้ ผมขอกำหนดเป็น F ครับ
select vdisk file=”G:\MyVHD.vhdx”
SCRIPT – VHD_SCRIPT.TXT
attach vdisk
assign letter=F


3. ต่อไป เราจะสร้าง batch file ขี้นมา ซึ่งจะเป็นไฟล์หลักในการทำงาน โดยที่ batch file ตัวนี้ จะมีการเรียกใช้งานไฟล์ script จากข้อ 2 พิมพ์ข้อความด้านล่างนี้ลงไป แล้วกด Ctril + S เพื่อทำการบันทึก เลือกที่เก็บไฟล์ไว้ที่ไดร์ฟ C ที่เดียวกันกับไฟล์ script ในข้อ 2 จากนั้นคลิกที่ช่อง File name พิมพ์ว่า VHD_Run.bat จากนั้นกดปุ่ม Save
diskpart /s “C:\VHD_Script.txt”
batch file – vhd_run.bat

เราจะใช้ไฟล์นี้ต่อไป ในขั้นตอนของ การทำ Task Scheduler


4. คลิกที่ปุ่ม Start (ไอคอนรูป Windows ตรงมุมล่างซ้าย) พิมพ์คำว่า “Computer Management” แล้วกด Enter

5. ที่หน้าต่าง Computer Management คลิกที่ Task scheduler ในหัวข้อ System Tools จากนั้นคลิกวา แล้วเลือก Create Task…

6. ที่หัวข้อ General ในช่อง Name ให้พิมพ์ว่า Auto Mount VHDx ในช่อง Security options ให้เลือก Run wheter user is logged on or not และคลิกเลือก Run with highest privileges

7. ที่หัวข้อ Triggers คลิกที่ปุ่ม New…
8. ในหน้าต่าง New trigger ที่หัวข้อ Begin the task ให้เลือกเป็น At startup จากนั้นกดปุ่ม OK

9. ที่หัวข้อ Actions คลิกที่ปุ่ม New…
10. ในหน้าต่าง New action ที่หัวข้อ Action ให้เลือกเป็น Start a program ที่หัวข้อ Settings ในช่อง Program/script ให้พิมพ์คำว่า “C:\VHD_Run.bat” ที่ช่อง Add arguments (optional) ให้พิมพ์คำว่า “” จากนั้นกดปุ่ม OK

11. ที่หัวข้อ Conditions ในส่วนของหัวข้อ Power ให้เอาเครื่องหมายถูกหน้าข้อความ “Start the task only if the computer is on AC power” ออก

12. ที่หัวข้อ Settings คลิกเลือก Run task as soon as possible after a scheduled start is missed จากนั้นกดปุ่ม OK เพื่อทำการสร้าง Task หากมีการถาม Password หรือ PIN ให้ใส่เหมือนกันกับตอนที่คุณเริ่มเข้าใช้งาน Windows หลังจากเปิดเครื่อง

13. เพื่อตรวจสอบว่า task ที่เราสร้างขึ้นมาถูกบันทึกไว้ใน Task Scheduler เรียบร้อยแล้วหรือไม่ ให้กลับไปที่หน้าต่าง Computer Management อีกครั้ง คลิกเครื่องหมายลูกศรที่หน้าหัวข้อ Task Scheduler จะเจอหัวข้อที่ชื่อ Task Scheduler Library เมื่อคลิกเลือกดูที่หัวข้อนี้แล้ว ให้สังเกตหาชื่อ Auto Mount VHDx ซึ่งเป็น task ที่เราสร้างขึ้นทางจะแสดงอยู่ในช่องฝั่งขวามือ หากไม่พบแสดงว่าการสร้าง task ไม่สำเร็จ ให้ลองสร้างใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ข้อที่ 5
14. ปิดหน้าต่าง Computer Management และหน้าต่าง ๆ อื่นที่เปิดค้างอยู่ และทำการ Restart คอมพิวเตอร์ เมื่อบูตเข้าสู่ระบบ Windows เรียบร้อยแล้ว เราจะเห็นไดร์ฟ F ซึ่งเป็น Virtual Hard Disk ที่เราสร้างขี้นใน My Computer และ Virtual Hard Disk ที่สร้างขึ้นนี้ จะทำงานเหมือนเป็น Hard disk อีกตัวหนึ่งในเครื่องของเราเลย
ที่นี้เราก็มี Hard Disk เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัวแล้ว จากเจ้า MicroSD ตัวน้อยของเรานี่เอง
สามารถติดตาม Blog Journey ผ่านทาง social media ได้หลากหลายช่องทาง ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
- WordPress: Blog Journey
- Facebook: Blog Journey Fanpage
- Twitter: @Blog_Journey_th
- Blockdit: Blog Journey Page
- TrueID: @NexUs
อ้างอิง
- How to create and set up a virtual hard disk on Windows 10
- How to Auto-Mount VHD or VHDX File at Startup in Windows 10, 8.1, & 7?
- ภาพปก และภาพแบคกราวน์ด จาก Pexels โดย Pixabay
- ภาพประกอบบทความ จัดทำ และเรียบเรียง โดย ผู้เขียนบทความ
บทความโดย
Xiao Er แห่งไซเบอร์สเปซ Blog Journey