พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย วันวลิต พ่อค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทยเมื่อครั้งสมัยอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีนี้ในบันทึกของเขาไว้อย่างน่าสนใจ
ว่าแต่ วันวลิต เป็นใครกันนะ ชื่อไท๊ย…ไทยเลย… ฮั่นแน่! เป็นคนไทยหรือป่าว… อันที่จริงแล้ว วันวลิตหาใช่ชาวไทยไม่ แท้จริงแล้วเขาเป็นชาววิลันดา… วิลันดา???… วิลันดาก็คือฮอลันดา หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันนั่นเองครับ เนื่องจากว่าในอดีตนั้น เราเรียกฮอลันดาว่าวิลันดาครับ สำหรับวันวลิตนั้น ชื่อเต็มของเขาในภาษาฮอลันดาก็คือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) แต่ที่เราเรียกกันว่า วันวลิต นั้น มีที่มาที่ไปก็คือ เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แปล Historical Account of Siam in The 17th Century ซึ่งเป็นบันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต ที่ถูกแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยนั้น พระองค์จึงโปรดให้ตั้งชื่อสั้นๆ เพื่อให้จดจำได้ง่ายว่า “จดหมายเหตุวันวลิต” และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อวันวลิตที่ติดหูคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ภาพจาก WikiPedia

(สง่า กาญจนาคพันธุ์)
ภาพจาก WikiPedia
วันวลิตทำงานให้กับบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาที่เมืองรอตเตอร์ดัม ในปี พ.ศ. ๒๑๗๑ จากนั้นบริษัทอิสต์อินเดียได้ส่ง วันวลิต ไปประจำที่เมืองปัตตาเวีย ประเทศชวา (ปัจจุบันคือ เมืองจาการ์ตา บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย) เป็นเวลาประมาณปีเศษ จากนั้นบริษัทอิสต์อินเดียได้ส่งวันวลิตให้ไปประจำอยู่ที่สำนักงานของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ๓ ปีครึ่ง ต่อมา พ.ศ. ๒๑๗๖ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของ โยส เซาเต็น (Joost Schouten) ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างขายสินค้าของ บริษัทอิสต์อินเดียที่กรุงศรีอยุธยา จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๗๙ วันวลิต จึงได้รับแต่งตั้งจากบริษัทอิสต์อินเดียให้เป็นผู้จัดการแทน โยส เซาเต็น ที่พ้นจากตำแหน่ง ในปี พ.ศ. ๒๑๘๕ ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมะละกา จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๘๙ จึงได้รับหน้าที่ให้ควบคุมขบวนเรือเดินทางกลับประเทศฮอลันดา
ในขณะที่วันวลิตประจำอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้อีก ๒ เรื่อง นอกเหนือจาก Historical Account of Siam in The 17th Century นั่นก็คือ
1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (Chronicles of the Ayuthian Dynasty) เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๓
2. จดหมายเหตุวันวลิต (The Historical Account of the war of Succession following the death of King Pra Interajatsia, 22nd King of Ayuthian Dynasty) เขียนขึ้นเมื่อนปลายปี พ.ศ. ๒๑๘๓
วันวลิต ได้นำบันทึกที่เขาเขียนขึ้นนี้ไปมอบให้แก่ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทอิสต์อินเดีย ณ กรุงปัตตาเวีย แล้วเขียนคำอุทิศให้ไว้ในหนังสือนั้นด้วย
ต้นฉบับที่ วันวลิต เขียนขึ้นนั้นเป็นภาษาฮอลันดา ว่ากันว่าได้สูญหายไปนานกว่า ๓๐๐ ปี จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวชื่อ ไซอิชิ อิวาโอ (Sciichi Iwao) ได้ค้นพบต้นฉบับภาษาฮอลันดาที่กรุงเฮก ประเทศฮอลันดา หลังจากนั้นได้มีการนำไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยนักประวัติศาสตร์ชาวฮอลันดาชื่อ นายอับราฮัม เดอ วิเกอฟอร์ต (Abraham de Wicquefort) และตีพิมพ์ที่กรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๖ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ นายดับบลิว.เอช. มันดี (W.H. Mundie, M.A.) ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ได้แปลจากฉบับภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษ แล้วตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Historical Account of Siam in The 17th Century จัดพิมพ์ขึ้นที่กรุงเทพฯ ตามรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
จดหมายเหตุวันวลิต เริ่มต้นตั้งแต่ปลายรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งวันวลิตเรียกพระองค์ว่า พระอินทรราชา จนถึงต้นรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื้อหาค่อนข้างละเอียด มีความเหมือน และความแตกต่างจาก พงศาวดารฉบับพันจันทุมาศ (เจิม) อยู่หลายจุด ทำให้จดหมายเหตุฉบับนี้ เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง และหนึ่งในเนื้อหาที่น่าสนใจที่จะขอหยิบยกขึ้นมาเล่าในคราวนี้ก็คือ พระราชพิธีแรกนา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ว่ากันด้วยเรื่องของ วันวลิต มาเสียยาว ต่อไปเราก็จะมาเข้าเรื่องของพระราชพิธีแรกนากัน
พระราชพิธีแรกนา ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กล่าวไว้ว่า เป็นพระราชประเพณีที่มีมานานตั้งแต่ครั้งสุโขทัย ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือนพมาศ โดยพระราชพิธีจะมีขึ้นในเดือน ๖ พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จออกไป ณ ทุ่งหลวง เพื่อเป็นประธานในพระราชพิธีนี้ด้วยตัวพระองค์เอง จะมีการจัดขบวนออกไปเพื่อทำพิธีอย่างเอิกเกริก พร้อมพระอัครชายา และพระราชวงศานุวงศ์ แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระราชพิธีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก คือ พระมหากษัตริย์มิได้เสด็จออกไปเป็นประธานในพิธีด้วยพระองค์เอง แต่จะให้ขุนนางเป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานในพระราชพิธี และพระองค์ประทับอยู่ในพระราชวัง ไม่เสด็จออกมาให้ใครพบเห็นตลอดเวลาสามวันของพระราชพิธี
“วิธีที่จัดการพระราชพิธีนี้เห็นจะไม่เหมือนกันกับที่สุโขทัยเลย ดูเป็นต่างครูกันทีเดียว ข้างสุโขทัยดูการพระราชพิธีนี้เป็นการคล้ายออกสนามใหญ่ เจ้าแผ่นดินยังถืออำนาจเต็ม ออกญาพลเทพเป็นแต่ผู้แทนที่จะลงมือไถนา ส่วนข้างกรุงเก่ายกเอาเจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตําแหน่งเสนาบดีผู้ออกหมายตามกระทรวง เจ้าแผ่นดินนั้นเป็นเหมือนหนึ่งออกจากอํานาจจําศีลเงียบเสียสามวัน การที่ทําเช่นนี้ก็เห็นจะประสงค์ว่าเป็นผู้ได้รับสมมติสามวัน เหมือนอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแรกนาเองดูขลังมากขึ้น ไม่เป็นแต่การแทนกันเล่นๆ ต่างว่า แต่วิธีอันนี้เห็นจะได้ใช้มาจนตลอดปลายๆ กรุงเก่า”
สำหรับพระราชพิธีแรกนา ในจดหมายเหตุวันวลิตนั้น มีความสอดคล้องกันกับที่บันทึกไว้ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน โดยวันวลิตบรรยายว่า ก่อนเริ่มฤดูเพาะปลูก พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปในพระราชพิธีแรกนาด้วยพระองค์เอง แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยพระมหากษัตริย์ได้มอบหมายให้ขุนนางที่ได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาข้าว ไปเป็นตัวแทนของพระองค์ และเสมือนว่าออกญาข้าวผู้นั้นเป็นพระมหากษัตริย์ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ในพระราชพิธีแรกนา และพระมหากษัตริย์จะทรงประทับอยู่แต่ในพระราชวัง ไม่เสด็จออกให้ใครพบเห็นตลอดช่วงพระราชพิธีแรกนาด้วยเช่นกัน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปดังนี้ก็ด้วยโหรได้ทำนายว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปในพระราชพิธีแรกนาด้วยพระองค์เองแล้ว พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ลง และพระราชวงศ์ก็จะสูญสิ้นตามไปด้วย
“มีประเพณีโบราณในอาณาจักรสยามตั้งขึ้นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว คือเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวและเมื่อเก็บข้าวเสร็จแล้วต้องทำความสะอาดพื้นดินเป็นการกำจัดแมลงและสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ ด้วยการจุดไฟที่กอต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว ก่อนการหว่านต้องไถพื้นดินเสียก่อน พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปยังชนบทในพระอิริยาบถสง่างาม และพรั่งพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก เพื่อทำพิธีแรกนาขวัญปลดปล่อยพระธรณีให้รอดพ้นจากภูตผี ซึ่งจะได้ไม่เข้าไปปะปนกับเมล็ดข้าวและต้นข้าว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จในงานพิธีนี้ การเพาะปลูกจะไม่เป็นผลเลย และถ้าหากพระองค์ทรงทำพิธีนี้เอง พระองค์จะดำรงพระชนมชีพไปได้ไม่เกิน ๓ ปี อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณในแถบนี้ของโลกซึ่งสดับเรื่องราวสำคัญนี้ได้กล่าวว่า ตนได้ตรวจเห็นในวิถีโครจรของดวงดาวว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปลี่ยนประเพณีนี้ และมอบหน้าที่นี้ให้แก่ขุนนางแล้ว พระราชวงศ์จะสิ้นสูญไปในไม่ช้า ฉะนั้น จึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้แก่เจ้านายคนหนึ่งของราชสำนัก ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมุหนายก แต่คนผู้นี้ไม่สามารถทำพิธีนี้ได้เพราะได้สิ้นชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทรงขอความเห็นในเรื่องเหตุบังเอิญนี้ อาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณได้ทูลตอบว่า ดาวต่าง ๆ เป็นเหตุให้เกิดโชคร้ายทำนองนี้แก่ผู้ได้รับมอบหน้าที่จากพระองค์ทุกคน เพื่อรักษาพิธีนี้ไว้ จำเป็นต้องมอบหน้าที่นี้แก่ขุนนางที่มียศต่ำ โดยให้เหตุผลว่า เหล่าภูตผีพากันกำเริบยะโส เพราะผู้มีเกียรติยศสูงมาทำพิธีขับไล่ และเทพเจ้าไม่ทรงพอพระทัยที่กษัตริย์และสมุหนายกถ่อมตนมากเกินไป โดยมาร่วมในการขับไล่ภูตผี”
“พระเจ้าแผ่นดินและที่ประชุมเสนาบดีเห็นว่าเหมาะสมแล้วที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ซึ่งเป็นไปตามหลักการของโหราจารย์และพระภิกษุสงฆ์ จึงทรงแต่งตั้งผู้มีตำแหน่งเป็นออกญาข้าวเป็นพระยาแรกนา เมื่อได้รับเลือกให้ทำพิธี ออกญาข้าวก็ถูกส่งไปอยู่ตามลำพังในที่ ๆ ห่างไกลพระนคร และไม่ออกจากที่พักหรือบริเวณรอบ ๆ บ้านด้วย จนกระทั่งถึงวันกำหนดสำหรับทำความสะอาดประเทศ จึงได้กลับไปยังราชสำนัก และเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ได้พระราชทานพระภูษาใหม่อันเป็นฉลององค์ของกษัตริย์และให้สวมมงกุฎรูปกรวยแหลมลงบนศีรษะ ออกญาข้าวต้องนั่งในบุษบกเล็ก ๆ ทรงปิระมิด มีคน ๘ คนหาม ออกเดินจากพระราชวังไปตามถนน มีบริวารล้นหลามพร้อมด้วยเครื่องดีดสีตีเป่าติดตามไปยังชนบท ทุก ๆ คนแม้แต่เสวกามาตย์และชาววังคนอื่น ๆ ถวายเกียรติยศทำนองเดียวกับที่ถวายพระเกียรติยศแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้ เพราะเขาได้ถูกสมมติให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในทันทีที่ออกจากพระราชวังก็มีอำนาจและเกียรติยศเช่นเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้สมเหตุสมผล พระเจ้าแผ่นดินเองจะไม่เสด็จจากพระราชวังเลย และไม่ปรากฏองค์ให้ใครเห็นด้วย“
แต่มีจุดที่น่าสนใจในจดหมายเหตุวันวลิต ซึ่งเมื่ออ่านแล้วอาจทำให้รู้สีกแปลกใจอยู่บ้าง เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับ (วันวลิตเป็นชาวต่างชาติ อาจจะยังไม่เข้าใจประเพณีของไทยมากนัก การจดบันทึกจึงเป็นการจดบันทึกจากสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น และการบอกเล่าเป็นส่วนใหญ่)
“พระยาแรกนาเมื่อมาถึงโรงพิธี ก็อนุญาตให้ทุก ๆ คน เข้าโจมตีต่อสู้กับพรรคพวกและบริวารผู้ติดตาม มีกฎอยู่ว่า ผู้ที่เข้าโจมตีจะแตะต้องตัวหรือองครักษ์ของพระยาแรกนาไม่ได้ และถ้าหากพระยาแรกนาได้ชัยชนะในการต่อสู้กับฝูงชนแล้ว จะเป็นสัญญลักษณ์ว่า ปีนั้นข้าวจะอุดมสมบูรณ์ และถ้าการ กลับตรงกันข้าม พระยาแรกนาต้องหนีกระเจิง ก็ทำนายได้ว่าเป็นลางร้าย และเกรงว่าภูตผีจะทำลายพืชผลของแผ่นดิน พิธีขำ ๆ เหล่านี้จบลงอย่างง่าย ๆ แต่มีบ่อยครั้งที่การต่อสู้รุนแรงถึงมีผู้เสียชีวิตหลายคน สุดท้ายของพิธีนี้ พระเจ้าแผ่นดินปลอมได้กลับไปยังพระราชวังในเวลาเย็นเพื่อได้ถอดมงกุฎและเครื่องทรงกษัตริย์อื่น ๆ ออก และกลับมียศตำแหน่งสามัญดังเดิม ตลอดปีนั้นเขาจะอยู่เย็นเป็นสุขหรือว่าเจ็บไข้ ก็แล้วแต่โชคดีร้าย และค่าปรับสินไหมที่ได้รับในวันนั้น”
เมื่ออ่านแล้วอาจทำให้รู้สีกสงสัยเหมือนกันว่า การต่อสู้ที่ว่านี้หมายถึงอะไร อาจจะตีความได้ว่า เป็นการยื้อแย่งเมล็ดพันธุ์ที่แจกในพิธีหรือไม่ หรือในอีกกรณีหนึ่ง หากอ่านจากบันทึกของวันวลติที่จะกล่าวถึงต่อไปด้านล่างนี้แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า น่าจะเกิดจากการที่เมื่อขบวนผ่านไปที่ไหน หากมีตลาดอยู่ และมีการค้าขาย ก็จะมีการเก็บภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนั้นๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่า หากพ่อค้าแม่ค้าไม่ยอม ก็จะมีการยื้อแย่ง ถึงขั้นต่อสู้ตลุมบอลกันก็เป็นได้ (ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)
“ออกญาข้าวไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นใด นอกจากเงินที่เก็บจากค่าปรับไหมจากคนที่พบกลางทาง และคนที่ไม่ปิดประตูบ้านเมื่อขบวนผ่านมาหรือคนที่เปิดร้าน หรือแผงลอยในถนนโล่ง ๆ จ่ายให้ เพราะเขามีสิทธิแย่งยื้อเอาจนกว่าคนเหล่านั้นจะยอมจ่ายเงินชดเชยให้ ทั้งนี้ เขาได้รับเงินรวม ๓ ชั่ง เป็นเงินสยาม ซึ่งมีค่ามากกว่า ๔๐ เหรียญโบราณของเสปญเล็กน้อย สำหรับวันนั้น“
ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า พระยาแรกนานั้น เปรียบเสมือนพระมหากษัตริย์ พระยาแรกนาจึงมีสิทธิขาดในการเก็บภาษีจากตลาด และเรือที่เข้ามาทำการค้าในพระราชพิธีแรกนา ๓ วันนั้น บ่าวไพร่ของพระยาแรกนาจึงมีสิทธิเต็มที่ในการเรียกเก็บเงินจากพ่อค้าโดยไม่มีความผิด เนื่องจากได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์แล้ว ส่วนพวกบ่าวไพร่เองก็อยากจะเก็บให้ได้มากๆ จึงหยิบฉวยกันเต็มที่ ดังนั้น หากพ่อค้าแม่ค้ารายใดมิเต็มใจที่จะให้ ด้วยเห็นว่าบ่าวไพร่เหล่านั้นเรียกเก็บมากไป ก็จะมีการยื้อแย่งกันจนถึงขั้นรุนแรง จนเป็นที่มาของคำว่า กำตาก อันหมายถึง หยิบฉวยทรัพย์สินสิ่งของไปโดยเจ้าตัวไม่เต็มใจจะให้ แต่จำใจต้องให้ด้วยไม่รู้จะทำอย่างไร
“ในการแรกนานี้ตะเภาเข้ามาก็เป็นของผู้แรกนาเหมือนกัน แต่มีวิเศษออกไปที่เรื่องว่าได้กำตากด้วย เรื่องกำตากนี้มีคำพูดกันจนถึงเป็นคำพูดเล่น ถ้าผู้ใดจะแย่งเอาสิ่งของผู้ใดเป็นการหยอก ๆ กัน ก็เรียกว่ากําตากละ เรื่องกําตากนี้ได้ค้นพบในจดหมายขุนหลวงหาวัด ว่าระหว่างพิธีสามวันนั้น ถ้าเป็นพ่อค้าเรือและเกวียน และพ่อค้าสำเภาจักมาแต่ทิศใด ๆ ทั้ง ๘ ทิศ ถ้าถึงในระหว่างพิธีนั้น พระอินทกุมารได้เป็นสิทธิ อนึ่ง ทนายบ่าวไพร่ของพระอินทกุมาร ในสามวันนั้นจะไปเก็บขนอนตลาดและเรือจ้างในทิศใด ๆ ก็ได้เป็นสิทธิ เรียกว่าทนายกําตาก มีข้อความของเก่าจดไว้ดังนี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่า ข้อที่ว่าเกวียนและเรือสำเภามาถึงในวันนั้นเป็นสิทธิ ดูเหมือนหนึ่งบรรดาสินค้าซึ่งมาในเกวียนและสำเภานั้นจะต้องริบเป็นของพระอินทกุมารทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้นมุ่งหมายจะว่าด้วยค่าปากเรือและค่าเกวียนซึ่งเป็นภาษีขาเข้าอย่างเก่า การที่อนุญาตให้นั้นอนุญาตค่าปากเรือและค่าเกวียนในส่วนที่มาถึงวันนั้นให้เป็นรางวัล แต่ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์ที่ได้เสมอทุกปี เพราะการค้าขายแต่ก่อนมีน้อย ที่จะหาสำเภาลําใดและเกวียนหมู่ใดให้มาถึงเฉพาะในวันพระราชพิธีนั้นได้เสมอทุกปีคงหาไม่ได้ คงจะมีผู้ได้จริงๆ สักครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เพียงห้าชั่งหกชั่งก็จะนับว่าเป็นเศรษฐีปลื้มกันเต็มที จึงได้นิยมโจษกันไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนประโยชน์ที่ได้จริง ๆ เป็นของเสมออยู่นั้น คงจะเป็นค่าตลาดค่าเรือจ้างส่วนวันนั้น เป็นยกพระราชทานให้ผู้แรกนาเก็บ ค่าตลาดที่กล่าวนี้คือที่เก็บอยู่อย่างเก่า พึ่งมาเลิกเสียในรัชกาลที่ ๔
อากรตลาดซึ่งเก็บอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นอากรในแบบซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า การซึ่งว่าทนายของผู้แรกนาไปเที่ยวเก็บอากรขนอนตลาดได้เป็นสิทธิทุกแห่งนั้น ก็คือยกอากรที่เก็บร้านละเฟื้องในส่วนวันนั้นพระราชทานให้แก่ผู้แรกนาไปเก็บเอาเอง จึงได้มีหมายให้คลังมหาสมบัติสรรพากรหมายบอกกํานันตลาดบกตลาดเรือ ให้ประกาศป่าวร้องให้ลูกค้ารู้จงทั่วกัน คือให้รู้ว่ากําหนดวันนั้นให้เสียอากรแก่ผู้แรกนา ถ้าเรือสำเภาเข้ามาก็ให้เสียค่าปากเรือค่าจังกอบแก่ผู้แรกนา เมื่อได้พระราชทานอนุญาตเช่นนี้ ผู้แรกนาก็แต่งทนายออกไปเที่ยวเก็บอากร ผู้แรกนาเองก็เป็นเวลานาน ๆ จะได้ครั้งหนึ่ง มุ่งหมายอยากจะได้ให้มาก ทนายซึ่งไปนั้นเล่าก็อยากจะหาผลประโยชน์ของตัวเป็นลําไพ่บ้าง เก็บอากรจึงได้รุนแรงล้นเหลือเกินพิกัดไปมาก นุ่งยิ่งกว่าที่นายตลาดนุ่งอยู่แต่ก่อน จนลูกค้าชาวตลาดทั้งปวงพากันกลัวเกรง เมื่อจะเอาให้มากผู้ที่จะให้ก็ไม่ใคร่จะยอมให้ ข้างผู้ที่จะเอาก็ถืออํานาจที่ได้อนุญาตไป โฉบฉวยเอาตามแต่ที่จะได้ จนกลับเป็นวิ่งราวกลายๆ คำที่ว่ากำตากจึงได้เป็นที่กลัวกัน จนถึงเอามาพูดเป็นยูดี ในเวลาที่จะแย่งของอันใดจากกันว่า กําตาก“
แต่ในบันทึกพระราชพิธีสิบสองเดือนนั้น เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ซึ่งการเก็บภาษีต่างๆ ในพระราชพิธีนั้นก็ได้ยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ในบันทึกจึงเป็นแต่เรื่องเล่าที่พระองค์ได้รับฟังมา
“ความที่ว่ามาทั้งนี้ เป็นเรื่องเดาทั้งสิ้น ผิดถูกอย่างไรขอโทษที แต่เรื่องกําตากนี้ จะได้มียกอากรหลวงพระราชทานมาเพียงใดก็ไม่ปรากฏ เป็นแต่ความนิยมของคนที่พูดกันอยู่ จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ นี้ ถึงแต่ก่อนมาก็ไม่ปรากฏว่าได้ยกอากรพระราชทาน ค่าปากเรือค่าจังกอบก็ไม่ได้ยินว่าพระราชทาน ได้ยินแต่เล่ากันว่า พวกทนายของพระยาเที่ยวเก็บเที่ยวชิงเบี้ยตามตลาด เมื่อไม่ได้เบี้ย สิ่งของอันใดก็ใช้ได้ เรียกว่าไปเก็บกำตาก เรือสำเภาลำใดมาถึงก็ลงไปเที่ยวเก็บฉก ๆ ฉวย ๆ เช่นนี้ เป็นเก็บกำตากเหมือนกัน อาการที่ทนายของพระยาไปทํานั้น ตามที่เข้าใจกันว่าในวันนั้น พระยาได้เป็นเจ้าแผ่นดินแทนวันหนึ่ง ถึงบ่าวไพร่จะไปเที่ยววิ่งราวแย่งชิงกลางตลาดยี่สานก็ไม่มีความผิด เป็นโอกาสที่จะนุ่งได้วันหนึ่งก็นุ่งให้เต็มมือ ฝ่ายผู้ที่ถูกแย่งชิงนั้นก็เข้าใจเสียว่าฟ้องร้องไม่ได้ ด้วยเป็นเหมือนวันปล่อยผู้ร้ายวันหนึ่ง ไม่มีใครมาฟ้องร้องว่ากล่าว เป็นแต่บ่นกับพึม ๆ พำ ๆ ไปต่าง ๆ จนเป็นเรื่องที่สำหรับเอามาพูดเล่น ใครจะแย่งของจากผู้ใดก็เรียกว่ากําตากละ แต่ที่แท้ธรรมเนียมกําตากนี้ ก็ได้เลิกเสียช้านานหลายสิบปีมาแล้ว แต่การที่คนมาก ๆ ด้วยกันไม่ชอบความประพฤติเช่นนั้นก็ยังเล่ากันต่อมา จนถึงชั้นเราได้รู้เรื่องดังนี้ ส่วนผู้ที่แรกนาในทุกวันนี้ แต่เดิมมาได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยง ๑๐ ตำลึง ครั้นเมื่อเกิดภาษีโรงร้านตึกแพขึ้น โปรดให้หักเงินภาษีเป็นค่าเลี้ยงเกาเหลาในการแรกนาอีกชั่งหนึ่ง ครั้นถึงพระยาอภัยรณฤทธิแรกนาออดแอดไปว่ากำลังวังชาไม่มีต่างๆ จึงได้ตกลงเป็นให้เงินเสียคราวละ ๕ ชั่งสืบมา“
สำหรับพระราชพิธีแรกนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระองค์ทรงเพิ่มพิธีสงฆ์เข้ามาด้วย เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งจะจัดขึ้น ๑ วันก่อน พระราชพิธีแรกนาที่มีมาแต่เดิม ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ แล้วจึงเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
“การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง“
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เต็มรูปแบบนั้นได้กระทำเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และได้ว่างเว้นไปถึง ๑๐ ปี ต่อมาได้ทำการรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่อันเป็นมงคลนี้ขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์เท่านั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้น โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงมีกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย พระราชพิธีเต็มรูปแบบจึงได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากเว้นว่างไปกว่า ๒๓ ปี และได้มีการประกอบพิธีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เนื่องจากระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่มิได้กำหนดวันที่แน่นอน เพียงแต่พิจารณาว่า วันใดใน เดือนหก (ตามปฏิทินจันทรคติ) หรือ เดือนพฤษภาคม ที่มีฤกษ์ยามเหมาะสมก็ให้จัดในวันนั้น
ในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก เป็นต้น ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกหน้าขวัญ เป็นพระราชพิธีเริ่มการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยจะโปรดเกล้าแต่งตั้งนางเทพีหาบพันธุ์พืช เช่น พันธุ์ข้าว ตามหลังพระยาแรกนา โดยมีพระโคเทียมแอกและไถพร้อมอยู่ ณ บริเวณนาจำลองที่ท้องสนามหลวง พระยาแรกนาจะไถหว่านพันธุ์พืช โดยใช้พันธุ์พืชที่นางเทพีหาบตามหลังหว่านลงบนนาจำลองเสมือนเป็นการประกาศแก่เกษตรกรว่าฤดูกาลทำนาเริ่มแล้ว โดยสมมุติว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาเริ่มการหว่านไถเป็นแบบอย่างและเป็นมงคล เพื่อให้เกษตรกรดำเนินตาม

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภาพจากเว็ปไซด์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พระโคแรกนา ๑ คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล
พระโคสำรอง ๑ คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง
ภาพจากเว็ปไซด์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพจาก ThaiPBS

ภาพจาก ThaiPBS
สามารถติดตาม Blog Journey ผ่านทาง social media ได้หลากหลายช่องทาง ตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
- WordPress: Blog Journey
- Facebook: Blog Journey Fanpage
- Twitter: @Blog_Journey_th
- Blockdit: Blog Journey Page
- TrueID: @NexUs
อ้างอิง
1. เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Ieremie van Vliet), จดหมายเหตุวันวลิต (Historiael Verhael der Sieckte ende Doot van Pra Interra-Tsia 22en Coninck in Siam)
2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้อยู่หัว, พระราชพิธีสิบสองเดือน
3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (MINISTRY OF AGRICULTURE AND COOPERATIVES), พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
4. I Love Thai Culture กระทรวงวัฒนธรรม, พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
5. ThaiPBS, ภาพพระราชพิธีจรดพระนังครัลแรกนาขวัญ
บทความโดย
Xiao Er แห่งอาณาจักร Blog Journey